- ใช้ไฟต่ำ
การขับรถให้ปลอดภัยในกรณีฝ่าหมอก ควรเปิดไฟต่ำหรือโคมไฟใหญ่เท่านั้น (ข้อมูลจากกรมทางหลวง) นอกจากนี้ ขณะผ่านเนิน โค้ง และทางแยกต่างๆ อาจกะพริบไฟเพื่อให้รถที่สวนมาสังเกตเห็นรถเราได้ง่ายขึ้นด้วย สำหรับรถที่มีไฟตัดหมอก การเปิดไฟตัดหมอกก็ช่วยได้ แต่เมื่อทัศนวิสัยดีขึ้นแล้วควรปิดทันทีเพื่อไม่ให้รบกวนสายตาผู้ขับขี่ยวดยานอื่นๆ
- งดเปิดไฟฉุกเฉินขับรถ
เพื่อขจัดความเข้าใจผิดเรื่องในการเปิดไฟฉุกเฉินขับรถ ขอย้ำกันอีกทีว่าไฟฉุกเฉินใช้เฉพาะเมื่อรถเสียเท่านั้น ยิ่งขณะหมอกลงจัดซึ่งผู้ขับขี่กะระยะห่างระหว่างรถได้ลำบาก การใช้ไฟฉุกเฉินจะทำให้รถคันอื่นเข้าใจผิดว่ารถจอดอยู่ หรือหากเปิดไฟเลี้ยวขณะที่เปิดไฟฉุกเฉิน รถคันอื่นจะไม่รู้ว่าเรากำลังจะเลี้ยวและอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้
- ขจัดฝ้าบนกระจก
สำหรับรถยนต์แล้ว การขับรถขณะหมอกลงคงเลี่ยงไม่พ้นเรื่องฝ้าบนกระรถรถที่ยิ่งเพิ่มอุปสรรคด้านทัศนวิสัย หากรถไม่มีโหมดไล่ฝ้าบนกระจกหลัง ลองสังเกตว่าฝ้าเกาะอยู่บนกระจกด้านในหรือด้านนอก หากเกิดด้านในให้ลดอุณหภูมิแอร์ลง แต่หากเกิดด้านนอกให้ปรับอุณหภูมิแอร์ขึ้น หากฝนไม่ตก การเปิดกระจกรถเล็กน้อยเพื่อปรับอุณหภูมิภายในและภายนอกตัวรถให้ใกล้เคียงกันจะช่วยลดฝ้าได้ หรือจอดรถในที่ปลอดภัยแล้วเช็ดฝ้าที่เกาะกระจกด้านนอกด้วยผ้าสะอาด
- รักษาระยะห่างจากรถคันหน้า
เพื่อความปลอดภัย ให้รักษาความเร็วในการขับตามรถคันหน้า โดยใช้หลักการ 5 วินาที (หรือ 3 วินาที ในทัศนวิสัยปกติ) สังเกตง่ายๆ คือ หากรถคันหน้าขับผ่านหลักกิโล ป้ายบอกทางหรือต้นไม้ข้างทางจุดใดจุดหนึ่งก็ได้ ให้นับในใจว่า 1,000, 2,000, 3,000, 4,000, 5,000 หากเราขับรถผ่านหลักกิโลหรือต้นไม้นั้นๆ ก่อนนับจบ หมายถึงยังเว้นระยะห่างไม่พอ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน อาจเบรครถไม่ทันได้
- รถจี้ท้าย ไม่ต้องเร่งหนี
แม้ว่าจะรู้สึกอยากขับหนีรถคันที่จ่อท้ายรถคุณมากแค่ไหน ขอแนะนำว่าอย่าพยายามเร่งเครื่องหนี เพราะจะยิ่งทำให้การขับรถฝ่าหมอกอันตรายมากขึ้น พยายามรักษาระดับความเร็วที่เหมาะสมและปลอดภัยไว้ก่อน
- งดเปลี่ยนช่องจราจรกะทันหัน
ข้อนี้คือสาเหตุหลักข้อหนึ่งของอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพถนนที่หมอกลงจัด หากต้องการเปลี่ยนช่องจราจร ควรเปิดไฟเลี้ยวล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 60 เมตร เพื่อให้รถคันอื่นๆ ที่ตามมาชะลอความเร็วได้ทัน
- ดูกระจกก่อนแตะเบรค
สำหรับรถยนต์ ก่อนชะลอรถให้ดูกระจกหลังและกระจกข้างก่อนแล้วจึงค่อยๆ แตะเบรค ยิ่งให้สัญญาณเบรคแก่รถคันหลังได้ตั้งแต่เนิ่นๆ มากแค่ไหนยิ่งช่วยเตือนรถคันหลังว่าคุณกำลังชะลอรถและลดความเสี่ยงที่รถจะชนท้ายได้มากเท่านั้น
- ลดสิ่งรบกวนรอบด้าน
สมาธิสำคัญมากขณะขับรถฝ่าหมอก ดังนั้น พยายามเพ่งสมาธิกับการควบคุมรถและการสังเกตเส้นทาง ลดสิ่งรบกวนให้มากที่สุดด้วยการลดเสียงเพลง ปิดการแจ้งเตือนบนโทรศัพท์มือถือ พักการพูดคุยกับผู้ร่วมทางสักครู่ หรือแง้มกระจกรถเพื่อฟังเสียงยานพาหนะรอบด้าน
- เพิ่มจุดสังเกต
ยิ่งทัศนวิสัยไม่ดี ผู้ขับขี่ยิ่งมีแนวโน้มที่จะขับตามไฟท้ายหรือไฟเบรคคันหน้าโดยอัตโนมัติ แท้จริงการขับตามไฟท้ายคันหน้าเพียงอย่างเดียวอาจจำกัดการมองเห็นขณะขับขี่ไว้เฉพาะช่วงแคบๆ และทำให้คุณพลาดการสังเกตสิ่งรอบด้าน เช่น กิ่งไม้ข้างทาง เศษวัสดุบนถนน หรือสิ่งมีชีวิตที่อาจพุ่งออกมาจากข้างทาง ถ้าจะให้ดีแนะนำให้สังเกตเส้นไหล่ทาง เส้นเหลือง แนวเสาไฟฟ้าหรือเสาข้างทางที่ติดแถบสะท้อนแสงควบคู่กันไปด้วย ในขณะเดียวกัน อาจสังเกตไฟหน้าของรถที่สวนมา ถ้าเห็นเเต่ไกลเเสดงว่าข้างหน้าเป็นทางตรง แต่ถ้าอยู่ดีๆ มีไฟรถโผล่มาเเสดงว่าข้างหน้าเป็นทางโค้งและต้องเพิ่มความระมัดระวัง
- ศึกษาเส้นทางล่วงหน้า
เส้นทางที่หมอกลงจัดส่วนใหญ่มักเป็นเส้นทางต่างจังหวัดที่คุณไม่คุ้นเคย ซึ่งยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนขึ้นไปอีก เพื่อป้องกันเหตุสุดวิสัยจากความไม่ชินเส้นทาง เตรียมหาข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางไว้ก่อน ไม่หวังพึ่ง GPS หรือ Google map เพียงอย่างเดียวโดยไม่เตรียมตัวล่วงหน้า เพื่อจะได้ทราบว่าจุดใดต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ หรืออาจจะให้คนที่นั่งข้างๆ ช่วยกันดูทางด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก : https://www.krungsriautobroker.com/Content