5 โรคภัยร้ายที่ควรหลีกเลี่ยงการขับรถเด็ดขาด

5 โรคภัยร้ายที่ควรหลีกเลี่ยงการขับรถเด็ดขาด

เคยสังเกตไหมว่าเมื่อทำใบขับขี่จะต้องมีการยื่นเอกสารรับรองการตรวจสุขภาพแนบไปด้วย สุขภาพ และโรคประจำตัวก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการขับขี่ของแต่ละคน โดยที่มีโรคบางโรคที่เป็นข้อห้ามที่ไม่สามารถทำใบขับขี่ได้ และไม่แนะนำให้ขับขี่ เพราะเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุอยู่ดี บทความนี้จะมาให้ความรู้ว่าโรคประจำตัวใดบ้าง ถ้าหากขับรถแล้วเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

โรคลมชัก

เป็นโรคที่เกิดมาจากการที่สมองส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมดมีการทำงานมากเกินปกติไปจากเดิม เกิดจากคลื่นไฟฟ้าผิดปกติในสมอง จึงทำให้เกิดอาการชัก พบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในขณะที่กำลังหลับอยู่ และตื่นอยู่

โดยมากมักมีปัจจัยมากระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ความเครียด, การอดนอน, ดื่มแอลกอฮอล์, การออกกำลังกายอย่างหนัก, มีแสงกะพริบ, มีเสียงดัง หรือมีรอบเดือนเป็นต้น ถึงแม้ว่าโรคลมชักบางชนิดสามารถรักษาหายขาดได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องทานยาให้ครบ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ซึ่งด้วยปัจจัยต่างๆ ก็อาจส่งผลให้ผู้ขับขี่สามารถเกิดอาการลมชักในขณะขับขี่โดยที่ไม่รู้ตัวได้ และสามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุทั้งกับตนเอง และผู้ร่วมใช้ถนนจึงเป็นโรคประจำตัวอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถทำใบขับขี่ได้

โรคหลอดเลือดสมอง

เป็นภาวะที่สมองขาดเลือด หรือมีเลือดออกในสมอง ทำให้เซลล์ขาดออกซิเจน และเซลล์สมองตาย เกิดขึ้นจากภาวะ และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ความดันสูง, เบาหวาน, โรคอ้วน, ไขมันในเลือดสูง, การสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์, โรคหัวใจ, การทานยาบางชนิด และรวมไปถึงการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์

โรคหลอดเลือดสมอง จะไปหยุดการทำงานของสมอง สามารถสังเกตอาการได้ เช่น ปากเบี้ยว, พูดไม่ชัด, วิงเวียน และแขนขาอ่อนแรง หากมีอาการข้างต้นในขณะขับขี่ ควรทำการชะลอ และจอดรถเพื่อขอความช่วยเหลือโดยด่วน

โรคพาร์กินสัน

เกิดจากการเสื่อมของสมอง และระบบประสาท ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่หากถ้าเริ่มมีอาการแล้ว ยิ่งทำการรักษาเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี อาการเบื้องต้นที่มักสังเกตได้ คือ มีอาการสั่นของส่วนต่างๆ ของร่างกาย, มีการเคลื่อนไหวที่ช้า และอาการเกร็ง

ซึ่งอาการของโรคพาร์กินสันนี้ จะส่งผลทำให้การตัดสินใจในการขับขี่ลดลง เมื่อตัดสินใจช้า เคลื่อนไหวช้า ก็ย่อมมีความเสี่ยงในขณะที่ต้องขับขี่ และอาจเกิดอุบัติเหตุในสถานการณ์ที่ต้องมีการตัดสินใจอย่างฉับพลัน

โรคเกี่ยวกับสายตา

เช่น โรคต้อหิน, ต้อกระจก หรือจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งส่งผลต่อมุมมอง และการมองเห็นของผู้ขับขี่ที่เป็นส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก การที่มีมุมมองที่เห็นได้แคบลง ไม่ชัด หรือไม่สามารถมองได้ดี รวมไปถึงในช่วงเวลากลางคืนที่อาจจะทำให้มองได้ยากลำบากขึ้นกว่าเดิม ก็จะมีผลต่อการมองสัญลักษณ์ไฟจราจร หรือป้ายบอกทาง รวมไปถึงการให้สัญญาณไฟ ก็มองเห็นได้ยากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุในสูงขึ้นอย่างแน่นอน

โรคหัวใจ

เกิดจากการที่เราทำพฤติกรรมเสี่ยง และสะสมเป็นเวลานานในชีวิตประจำวัน เช่น การสูบ หรือสูดดมควันบุหรี่, การทานอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด หรือมีไขมันสูง และรวมไปถึงความดัน และระดับน้ำตาลในเลือดด้วยซึ่งมีผลต่อหัวใจ หรืออาจเกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด หรือโดยพันธุกรรม และเป็นสาเหตุหลักของโรคหลอดเลือดหัวใจ

ซึ่งหากในขณะขับขี่ ผู้ขับขี่เกิดภาวะความเครียด หรือตกใจ และเกิดอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ซึ่งอาจนำไปสู่อาการวูบ และหมดสติในระหว่างการขับรถ ที่อาจเกิดอุบัติเหตุทั้งตัวผู้ขับขี่เอง และผู้อื่น หรืออาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายเฉียบพลันได้

นอกจากโรคที่กล่าวมาในข้างต้นแล้ว ก็ยังมีโรค และภาวะต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการขับขี่ และเป็นข้อห้ามในการทำใบขับขี่ด้วย ได้แก่

• โรคเท้าช้าง

• โรควัณโรค ระดับแพร่กระจาย

• โรคเรื้อน

• โรคพิษสุราเรื้อรัง

• โรคทางสมองและระบบประสาท

• โรคเบาหวาน ในระยะที่ควบคุมไม่ได้

• โรคไขข้อเสื่อม ไขข้ออักเสบ

• ผู้ติดสารเสพติด

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากโรคทั้งหมดนี้มีโอกาสที่ทางประกันภัย และรวมถึง พ.ร.บ. (การประกันภัยภาคบังคับ) มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบ ไม่จ่ายค่าเสียหายให้แต่อย่างใด จึงแนะนำให้ตรวจเช็กร่างกายของเราให้ดีก่อนการขับขี่ และทำใบขับขี่ หากเป็นผู้ที่โรค หรือภาวะข้างต้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวเรา และผู้ร่วมถนน

cr. sanook.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *